โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เปิดบริการถึง 16 เมษายน 2561 พร้อมแคมเปญพิเศษ ฉลองส่งท้ายความทรงจำ

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เปิดบริการถึง 16 เมษายน 2561 พร้อมแคมเปญพิเศษ ฉลองส่งท้ายความทรงจำ

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ประกาศจะเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2561 (ปีหน้า) พร้อมจัดแคมเปญพิเศษอย่างต่อเนื่องทั้งปี เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าและแขกที่มาเข้าพัก เพื่อร่วมฉลองความทรงจำอันแสนงดงามตลอด 48 ปี และเป็นการส่งท้ายตำนานบทแรกของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่มีจุดเด่นด้านเอกลักษณ์การให้บริการด้วยรากฐานของความเป็นไทยแห่งนี้  ก่อนจะเข้าสู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างโรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมที่จะเปิดตัวในปี พ.ศ. 2565   

 

หนึ่งในไฮไลท์ของกิจกรรมจากแคมเปญสุดพิเศษที่ทางโรงแรมฯ จัดขึ้นนี้ คือ ความทรงจำแสนพิเศษสำหรับคู่รักแต่งงาน โดยทางโรงแรมฯ จะมอบบัตรกำนัลรับประทานอาหารชุดพิเศษฟรี (เซ็ทเมนู 3 คอร์ส) สำหรับมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำ) ให้แก่คู่รักทุกคู่ที่เคยจัดงานแต่งงานที่โรงแรมฯ นับตั้งแต่โรงแรมเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน ด้วยกติกาง่ายๆ เพียงแสดงภาพแต่งงาน เพื่อรับสิทธิ อีกทั้งคู่รักยังจะได้รับหนังสือวิธีการปรุงอาหารไทยของดุสิต “Thai Way of Life: The Dusit Cookbook” และส่วนลดพิเศษ 27% เพื่อใช้เป็นส่วนลดค่าอาหารในโรงแรม ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 15 เมษายน พ.ศ.2561 โปรโมชั่นสำหรับลูกค้าที่จองห้องพักผ่าน www.dusit.com ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะได้รับราคาที่ดีที่สุดของ “ดุสิตเบสท์เรท” เป็นการการันตี นอกจากนี้ยังได้รับการอัพเกรดห้องพักเป็นระดับถัดไป (ขึ้นอยู่กับจำนวนห้องพักที่ว่าง) เป็นอภินันทนาการ พร้อมเข้าเช็คอินได้แต่ 06.00 น. และ ยืดเวลาเช็คเอ้าท์จนถึง 18.00 น. รวมทั้งตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอสท่านละ 1 ใบต่อวัน และสำหรับ ผู้ที่ทำการจองห้องพักแบบซูพีเรีย ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 เพื่อเข้าพักภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จะได้รับการอัพเกรดเป็นห้องพักแบบ ดุสิตรูม (เอ็กเซ็กคูทีฟ สวีท ที่มีห้องนั่งเล่นแยกเป็นสัดเป็นส่วน – 60 ตรม.) ในราคาพิเศษเพียง 4,800 บาท++ต่อคืน รวมอาหารเช้าสำหรับ 2 ท่าน

 

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้รับการก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย และเริ่มเปิดดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 เมื่อในอดีตโรงแรม 5 ดาว แห่งนี้เคยเป็นตึกที่สูงและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังได้ชื่อว่า เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยเป็นโรงแรมห้าดาวแห่งแรกที่ให้บริการที่มีรากฐานมาจากคุณค่าความเป็นไทย อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มนำกรุงเทพฯ ไปสู่มาตรฐานของการท่องเที่ยวแบบใหม่ ด้วยรูปแบบการรับประทานอาหารนอกบ้าน การสังสรรค์ ไปจนถึงวิถีในการจัดงานแต่งงาน โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบผสม (mixed use) ซึ่งประกอบไปด้วย โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพื้นที่สีเขียวรอบโครงการ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน)  โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะคงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมของโรงแรมปัจจุบัน เช่น ยอดตึก และต้นไม้ดั้งเดิมที่สูงใหญ่และสวยงาม ไปไว้ในโรงแรมแห่งใหม่ด้วย ทั้งนี้ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะเป็นส่วนที่ถูกก่อสร้างก่อนส่วนอื่นๆ เนื่องจากโรงแรมจะถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นที่ดินที่ได้มาเพิ่มตรงบริเวณอาคารรกร้างว่างเปล่าบนถนนพระราม 4 ที่อยู่ติดกับโรงแรมในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของทั้งโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

 

 

 

 

คุณรู้หรีอไม่ว่า………….


ชื่อ “ดุสิตธานี” นั้นตั้งขึ้นจากแรงบันดาลใจ 2 ประการ คือ

1. ขณะที่ท่านผู้หญิงสักการะบูชา ราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อขอพระราชทานอภัยที่จะต้องรื้ออาคารเก่า (บ้านศาลาแดง) ซึ่งเคยเป็นสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ สมาคมแพทย์ศาสตร์ ทำให้ได้รำลึกถึงพระราชประสงค์ที่จะสร้างเมืองจำลองรูปแบบประชาธิปไตยขึ้น และได้พระราชทานนามว่า “ดุสิตธานี”

2. คำว่า “ดุสิต”  เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4 การออกเสียงไพเราะ และ ความหมายเป็นมงคลแก่ผู้ที่เข้ามาพัก เสมือนได้อยู่บนสวรรค์

• ตัวตึกโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ มีความสูงวัดจากพื้นถึงยอดตึก 100 เมตร

• ยอดสูงบนดาดฟ้าตึก เปรียบเสมือนยอดเจดีย์ เพื่อสื่อถึงความเป็นไทย โดยสถาปนิกได้รับแรงบันดาลใจจากวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

• ดุสิตธานี กรุงเทพฯ เคยมีลูกช้าง ซึ่งท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ได้ไปเจอ เนื่องจากกำพร้าแม่ ท่านผู้หญิงจึงนำมาเลี้ยงในบริเวณโรงแรม ตั้งชื่อว่า “บิมโบ้” และเป็นสมาชิกของดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยทำหน้าที่ช่วยต้อนรับแขกต่างชาติ จนเป็นที่ชื่นชอบและประทับใจแก่แขกผู้มาเยือนทุกคน

• ห้องนภาลัย บอลรูม เป็นห้องจัดเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น และเป็นจุดเปลี่ยนแปลงวิถีการจัดงานแต่งงานของคนในสมัยนั้นให้เริ่มมาจัดงานที่โรงแรม แทนสถานที่จัดเลี้ยงอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น

• เทียร่า เป็น ซัปเปอร์คลับ แห่งแรกในเมืองไทย เปิดให้บริการพร้อมโรงแรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เสิร์ฟอาหารบุฟเฟ่ต์มื้อกลางวัน และอาหารฝรั่งเศสมื้อเย็น เน้นการตกแต่งที่หรูหรา โดยมีจุดขายคือตั้งอยู่บนยอดตึกที่สูงที่สุดในสมัยนั้น (ปัจจุบันคือ ห้องอาหาร 22 คิทเช่น แอนด์ บาร์) อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่ให้ความบันเทิงโดยมีวงดนตรีและโชว์จากต่างประเทศ อาทิ การแสดงของร็อด สจ๊วต, สตีวี วันเดอร์ และอีกมากมาย

• ห้องไลบรารี่ 1918 ที่มาของชื่อ ไลบรารี่ (ห้องสมุด) เป็นห้องจัดเลี้ยงน้ำชา ที่จัดให้คล้ายเป็นห้องพระบรมราชานุสรณ์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเอกสารพระราชกรณียกิจทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ มีภาพบ้านเรือนสมัยนั้น ถนนหนทางในยุคนั้นและมีอุปกรณ์ ที่หาดูได้ยาก เช่น เครื่องเล่นจานเสียงชนิดที่ใช้มือหมุน ส่วน 1918 มาจากปีที่ พระองค์ท่านทรงสร้างเมืองประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2461 ซึ่งตรงกับปี ค.ศ. 1918

• ห้องอาหารไทยห้องแรกชื่อ ห้องสุโขทัย เน้นการออกแบบโดยใช้ไม้สักโดยอาจารย์จากกรมศิลปากร ที่นั่งทานอาหารจะเป็นแบบเจาะหลุมนั่งห้อยขา มีรำไทยโชว์ให้ชาวต่างชาติดูด้วย จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นห้องบุษราคัม และเปลี่ยนเป็นห้องเบญจรงค์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เน้นอาหารไทยแท้แบบชาววัง จนปัจจุบัน ได้ปรับวิธีการนำเสนออาหารเป็นแบบไทยร่วมสมัย

• ห้องอาหาร แฮมิลตันส์ สเต็กเฮ้าส์ ตั้งชื่อตามเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนแรก คือ แฮมิลตัน คิง โดยที่สหรัฐอเมริกากับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนาน ก่อนหน้านี้ได้มีเจ้าหน้าที่กงสุลประจำประเทศไทย มาแล้ว 4 คน โดยมี มร. แฮมิลตัน คิง เป็นคนที่ 5 ที่รับตำแหน่งกงสุลในเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2441 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2446 ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยผู้มีอำนาจเต็มเป็นคนแรก

• นักร้องคนไทยคนแรกที่มาร้องเพลงที่ ล็อบบี้เล้าจน์ คือคุณนันทิดา แก้วบัวสาย ภายหลังจากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนักร้องสมัครเล่นแห่งเอเชีย ที่ประเทศฮ่องกง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.  2521

• ปฏิทินโรงแรมในเครือดุสิตธานีในอดีตเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากสามารถสื่อความหมายของการเป็นโรงแรมของคนไทย โดยใช้สถานที่ของโรงแรมและนางแบบที่เป็นพนักงานของโรงแรมอีกด้วย 

• ห้องจัดเลี้ยง “เดอะเซลล่า” ในปัจจุบัน เคยเป็นห้องอาหารที่นำเสนออาหารหลายรูปแบบได้แก่

Ø ห้องอาหารคาสติเลี่ยน เปิดในปี พ.ศ. 2523 เป็นห้อง Grill

Ø ห้องโฟร์ซีซั่น เปิดในปีพ.ศ. 2527 เป็นอาหารทะเล

Ø ห้องไชน่าทาวน์ เปิดในปีพ.ศ. 2530 เป็นอาหารจีนแต้จิ๋ว

Ø ห้องอิเชียโล่ เปิดในปีพ.ศ. 2547 เป็นอาหารอิตาเลี่ยน

• การออกแบบรูปทรงตึกดุสิตธานี กรุงเทพฯ ท่านผู้หญิงต้องการให้ออกแบบให้เป็นตึกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งมีข้อดีคือ ได้ตึกที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์คของเมือง แต่ก็มีข้อเสียคือไม่สามารถปรับขยายตัวตีกได้ เนื่องจากตึกมีรูปทรงเป็นสามเหลี่ยม

• โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ประกาศเปิดให้บริการถึงวันที่ 16 เมษายน ปีหน้า (2561) ซึ่งในวันนั้นโรงแรมจะเปิดให้บริการอาหารเช้าและอาหารกลางวัน และลูกค้าที่พักในโรงแรมสามารถเช็คเอ้าท์ได้ถึงเวลา 14.00 น. จากนั้นโรงแรมจะปิดให้บริการ ก่อนจะเข้าสู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมที่จะเปิดตัวในปี พ.ศ. 2565  


 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้